แต่เดิมที่ตั้งของบ้านแม่ข้าวต้มหลวงเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยไม้นาๆชนิด และเป็นที่อยู่ของสิงห์สาราสัตว์เป็นจำนวนมาก และมีคนอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นชาวไทยเขินจากตอนบนของประเทศไทยได้อพยพลงมาจากเมืองเลน(ชาวเขินมีสองพวก คือเขินหลอ และเขินธรรมดา ชาวเขินส่วนหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านทุ่งก่อ) ชาวเขินหลอ เริ่มมาตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านกลางทุ่ง เพราะสมัยนั้นกำลังบุกเบิกนา ครอบครัวกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามามีชื่อว่า ศรีวิไชย มีแม่คำซางแดง และแม่คำแปง เป็นญาติพี่น้องกัน อพยพมากันหลายครอบครัว แล้วได้ตั้งบ้านเรือนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๐ และหลังจากนั้นก็ได้ขยายออกมาตั้งบ้านอยู่ริมน้ำแม่ข้าวต้ม (บ้านในกลางทุ่ง) จากนั้นก็ได้ขยับขยายไปตั้งบ้านเรือนทางทิศใต้หลายบ้านคือ บ้านสันต้นแหน(มีต้นแหนขึ้นเป็นจำนวนมาก) บ้านกองยาว บ้านสันต้นกอก(มีต้นมะกอกใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง) บ้านสันป่าส้าน บ้านสันคะต้ำ(สมัยนั้นมีสัตว์ป่าดุร้ายอย่างเช่น เสือ วัว หมูป่า จึงมีชาวบ้านหลายคน โดยการนำของพ่อหนานวัง ช่วยกันทำ “คะต้ำเสือ” ขึ้นมา จึงเรียกว่าบ้านสันคะต้ำ)
พวกที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านสันต้นแหน(ซึ่งขณะน้ันเป็นป่าไม้แหน หรือต้นสมอพิเภกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก) ซึ่งเป็นทำเลที่ดีจึงยึดเอาที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยและสร้างบ้านเรือน พออยู่นานเข้าก็เพิ่มจำนวนขึ้นโดยลำดับ นับได้ประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน เมื่อมีหลายหลังคาจึงคิดที่จะสร้างวัดขึ้นมา ได้ตกลงใจกันเลือกเนินดินที่เป็นป่าหญ้าตระกูลหวายและหญ้าคา อีกทั้งยังมีไม้แหนอยู่จำนวนมาก แล้วจึงได้ช่วยกันแผ้วถางแล้วตั้งวัดขึ้นใน วันที่ ๑๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๓๔๗ แล้วตั้งชื่อวัดตามชื่อบ้านว่า “วัดบ้านสันต้นแหน” และก็ได้อยู่ทำนุบำรุงวัดตลอดมา
เนื่องจากทำเลที่ตั้งของวัดเป็นเนินดิน ดังนั้นเมื่อถึงคราวหน้าน้ำหลาก กระแสน้ำก็จะพัดพาเอาทรายจากที่ต่างๆมารวมกันที่เนินวัด จึงทำให้บริเวณวัดพูนไปด้วยทราย ด้วยเหตุนั้นนั่นเองในภายหลังชาวบ้านจึงได้เปลี่ยนชื่อจาก “วัดสันต้นแหน” มาเป็น “วัดทรายมูล”
จวบจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๔๒ (สมัยพระอธิการก๋อง สิทฺธิญาโน) ทางคณะศรัทธา ได้นำพระพุทธรูปปางต่างๆจากประเทศพม่า ล่องแพมาจากอำเภอเชียงแสนมาทางน้ำกกแล้วได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดทรายมูล แล้วจึงได้สร้างวิหารหลังคามุงด้วยหญ้าคาขึ้นเป็นหลังแรก
ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ สมัยพระอธิการจันทร์แก้ว ธิอาษา เป็นเจ้าอาวาส ได้เกิดน้ำท่วม และในปีเดียวกันก็ได้เกิดไฟไหม้กุฏิขึ้นสาเหตุมาจากได้มีสามเณรรูปหนึ่ง ได้จุดเทียนเพื่อฆ่ายุง แต่ไฟเกิดติด”ผ้ากั้ง”(ผ้าฉาก) ลุกไหม้กุฏิทั้งหลัง ทางศรัทธาวัดทรายมูลจึงได้เกิดแตกกันขึ้นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งประสงค์ที่จะย้ายวัดใหม่ที่มีทำเลที่ดีกว่าเนื่องจากทำเลที่ตั้งของวัดทรายมูลเป็นเนินดิน เมื่อถึงฤดูฝนเมื่อมีฝนตกลงมามากๆ บริเวณรอบๆวัดก็จะมีน้ำขึ้นสูง ทำให้การมาทำบุญที่วัดเป็นไปโดยลำบาก (ในธรรมใบลานบางผูกก็กล่าวถึงว่า “วัดทรายมูลน้ำล้อม”)
คณะศรัทธาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยก็อยากอยู่ที่เดิมด้วยเหตุผลว่า เคยอยู่และทำบุญที่นี่มาช้านาน จึงมีมติกันให้แบ่งพระพุทธรูปออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยังประดิษฐานไว้ที่เดิม ส่วนหนึ่งก็นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดทรายมูล แล้วตั้งชื่อวัดว่า “วัดเกษแก้ว” ใน วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ดังนั้นวัดทรายมูลและวัดเกษแก้ว จึงเป็นเหมือนวัดพี่วัดน้อง ชาวบ้านจะเรียกวัดเกษแก้วว่า วัดเหนือ และเรียกวัดทรายมูลว่า วัดใต้
เนื่องจากวัดทรายมูลเป็นวัดแรกของตำบล จึงมีอาณาเขตกว้างขวาง มีคณะศรัทธามาร่วมทำบุญและทำนุบำรุงวัดทรายมูลจำนวนมาก โดยทางทิศใต้สมัยที่วัดแสงพระธาตุยังไม่ได้ก่อตั้ง บรรดาศรัทธาบ้านหัวฝาย ยังคงมาทำบุญที่วัดทรายมูลเป็นประจำ ต่อมาภายหลังได้ตั้งวัดแสงพระธาตุขึ่นในปี พ.ศ.๒๕๐๐ จึงได้แบ่งศรัทธาจำนวนหนึ่งไว้เพื่อทำนุบำรุงวัดแสงพระธาตุต่อไป
ทางทิศเหนือก็มี “บ้านทุ่งต้อม” (หมู่ที่๑๘) ได้แยกไปสมัยที่เริ่มก่อตั้งวัดเกษแก้ว
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๒
ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๔ เวลา ๑๔.๐๐ น.